โครงการติดตามประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 สำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการจัดโครงการติดตามประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โครงการฯ ดังกล่าวนี้ ได้รับเกียรติจาก นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการติดตามประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา ผ่านรูปแบบการบันทึกวิดิทัศน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายว่า กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งกฎหมายนั้นเมื่อใช้บังคับไประยะหนึ่งแล้ว สมควรต้องมีการติดตามประมวลผลการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับกฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของนักเรียน ก็จำเป็นต้องมีการติดตามประเมินผลการบังคับใช้เช่นเดียวกัน โดยขอให้คณะผู้จัด ให้โอกาสผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่าน ได้มีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมการประชุมอย่างเต็มที่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครู ผู้แทนนักเรียน ผู้แทนส่วนราชการจากส่วนกลาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระเบียบ

ในการนี้ นายโกวิท คูพะเนียด ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมายการศึกษา และคณะเจ้าหน้าที่จากกลุ่มกฎหมายการศึกษา สำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการบรรยายสรุปเกี่ยวกับหลักการ และประเด็นสาระสำคัญของกฎหมายที่นำมาดำเนินการติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา จำนวน 5 ฉบับ กล่าวคือ

1) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562
3) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562
4) กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
5) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
พร้อมทั้งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วม

ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และได้มีการให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา และนักเรียน ต่อไป