“สกศ. ลงพื้นที่สมุทรสงคราม รับฟังเสียงสะท้อนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัว และสถานประกอบการ”
วันที่ 13 มิถุนายน 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัว และสถานประกอบการตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ณ โรงแรมชูชัยบุรี ศรีอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
นายสวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง สิทธิและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แก่ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา บุคลากรทางการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน นักเรียน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษั้นพื้นฐานซึ่งออกตามความ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จำนวน 6 ฉบับ ได้มีการประกาศใช้มาเป็นเวลานานเนื่องจากปัจจุบันสภาพบริบทสังคมไทยได้เปลี่ยนไป รูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้เปลี่ยนไป ในการประชุมวันนี้จึงขอรับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่เพื่อหาข้อเสนอแนะร่วมกันในการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ให้มีความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้เรียน ศูนย์การเรียนต่าง ๆ และเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับบริบทของสังคมและความต้องการของสังคมไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ นายวีระ พลอยครบุรี นายสวัสดิ์ ภู่ทอง และนายโกวิท คูพะเนียด นายสมพงษ์ ผุยสาธรรม ร่วมกันอภิปรายและรับฟังความคิดเห็น เรื่อง สภาพปัญหาในการจัดการศึกขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัว และสถานประกอบการตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแนวทางในการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย คู่มือ
ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ได้ให้ข้อสังเกตเพื่อเป็นประเด็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือคู่มือ ดังนี้ 1) มาตรฐานการศึกษาสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมควรเป็นระดับใด 2) หลักสูตรการเรียนการสอนปัจจุบันมี 8 กลุ่มสาระฯ ควรเพิ่มเติมในประเด็นใดบ้าง และให้ข้อเสนอแนะว่า การจัดการเรียนการสอนควรเป็นในรูปแบบไฮบริด โดยนักเรียนไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนทุกวัน เช่น จากเคยไปเรียนวันจันทร์-ศุกร์ ควรกำหนดให้มี 1 วัน สามารถเรียนอยู่บ้านได้
ผู้เข้าร่วมประชุม ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาจะทราบได้อย่างไรว่าศูนย์การเรียนแต่ละแห่งสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาใด 2) กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการฯ ข้อ 11 การเทียบโอนผลการเรียนเป็นอำนาจของเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานใด 3) กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการฯ ข้อ 12 กำหนดให้ศูนย์การเรียนมีสิทธิรับเงินอุดหนุนจากรัฐแต่ปัจจุบันศูนย์การเรียนไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว 4) ศูนย์การเรียนซึ่งจัดการศึกษาตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการฯ โดยจัดการศึกษาประเภทอาชีวศึกษาควรได้รับการสนับสนุนการเข้าร่วมกิจกรรม การสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดการเรียนการสอน และกรณีมีผู้บริจาคเงินให้ศูนย์การเรียนผู้บริจาคควรได้รับสิทธิลดหย่อนในการชำระภาษีประจำปี โดยวิทยากร/เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดประชุม ได้ชี้แจงดังนี้ 1) การเทียบโอนผลการเรียน ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการจัดทำกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียน 2) การจ่ายเงินอุดหนุนตามกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของสถานประกอบการฯ ข้อ 12 ขณะนี้ สพฐ.กำลังดำเนินการร่างหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าว ฯลฯ
ในช่วงบ่าย จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายการศึกษา ครั้งที่ ๒ โดยฝ่ายเลขานุการจะนำประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุม เสนอให้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านกฎหมายการศึกษาได้พิจารณาต่อไป